ทัวร์ไต้หวันฝากข้อมูลสำหรับคนไทยผู้ประสงค์ไปทำงาน

taiwan-012ทัวร์ไต้หวันเห็นว่าหลายๆคนสนใจและอยากไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน เลยเอาข้อมูลดีๆมาฝากกันเพื่อจะได้ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  เนื่องจากไต้หวันเป็นตลาดแรงงานไทยที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน จำนวนแรงงานไทยที่อยู่ในไต้หวัน มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 86,293 คน (สถิติเมื่อเดือน ก.พ. 2551) โดยเป็นแรงงานต่างชาติที่มากเป็นอันดับสองในไต้หวัน

ขั้นตอนต่างๆ เมื่อเดินทางมาถึงไต้หวัน

    1. ตรวจโรค    เข้ารับการตรวจโรคภายใน 3 วัน นับจากวันเดินทางมาถึงไต้หวัน และเข้ารับการตรวจอีกเมื่อทำงานครบเดือนที่ 6 เดือนที่ 18 และเดือนที่ 30 (ก่อนหรือหลัง 30 วัน)

    2. ยื่นขอใบถิ่นที่อยู่สำหรับบุคคลต่างด้าว (ใบ Alien Resident Certificate หรือใบกาม่า)    นายจ้างมีหน้าที่เตรียมเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง และพาแรงงานไปยื่นขอใบถิ่นที่อยู่สำหรับบุคคลต่างด้าว และพิมพ์ลายนิ้วมือที่สถานีตำรวจภายใน 15 วัน นับจากวันเดินทางมาถึงไต้หวัน และท่านจะต้องแจ้งนายจ้างให้ยื่นเรื่องขอต่ออายุใบถิ่นที่อยู่สำหรับบุคคลต่างด้าวก่อนจะหมดอายุ

    3. ยื่นขอและต่ออายุใบอนุญาตทำงาน    เมื่อเข้าสู่ไต้หวันผ่านการตรวจโรคครั้งแรกแล้ว นายจ้างต้องยื่นคำร้องขอใบอนุญาตทำงานภายในเวลา 15 วัน นับจากวันเดินทางมาถึงไต้หวัน เมื่อครบกำหนดและท่านประสงค์จะต่อสัญญา นายจ้างจะต้องยื่นคำร้องขอต่อสัญญาภายใน 60 วันก่อนสิ้นอายุสัญญาจ้างงาน

·        กฎหมายแรงงาน

    1. กฎหมายมาตรฐานแรงงาน

    กฎหมายมาตรฐานแรงงาน เป็นกฎหมายใช้บังคับและคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในไต้หวัน ครอบคลุมทั้งแรงงานไต้หวันและแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไต้หวัน โดยขอบข่ายการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงานนั้น จะครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ชั่วโมงการทำงาน การลางาน ค่าล่วงเวลา และค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างต่างๆ ถ้าท่านทำงานที่อยู่ในขอบข่ายในการบังคับใช้ของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน ท่านก็จะถูกคุ้มครองจากกฎหมายนี้ ยกเว้นผู้ที่ทำงานแม่บ้าน และผู้อนุบาลดูแลคนป่วย สิทธิต่างๆ ของท่านไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงการทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ การลาพัก และการทำงานในเวลากลางคืนต่างๆ ต้องปฏิบัติตามหนังสือสัญญา โดยหนังสือสัญญานั้นจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานท้องถิ่น และต้องเป็นการยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย (นายจ้างและลูกจ้าง) ดังนั้นขอให้ท่านอ่านเนื้อความในสัญญาให้ละเอียดก่อนลงนาม

    2. ประเภทงานจะต้องตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจ้าง

    ตำแหน่งและประเภทงานของท่านคืออะไร? ท่านสามารถดูได้จากในหนังสือสัญญา และในใบถิ่นที่อยู่สำหรับคนต่างด้าว (ใบกาม่า) ซึ่งจะระบุตำแหน่งหน้าที่การงานและประเภทงานของท่าน รวมทั้งระบุชื่อ ที่อยู่ของนายจ้าง ไว้อย่างชัดเจน ในกรณีที่นายจ้างสั่งให้ท่านไปทำงานนอกเหนือ จากสัญญา ท่านสามารถปฏิเสธได้ ไม่ว่าท่านจะยินยอมหรือถูกบังคับก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นการผิดต่อกฎหมายการว่าจ้าง เช่น สั่งให้ไปรับจ้างทำความสะอาดตามบ้านญาติของนายจ้าง เป็นต้น ถ้านายจ้างของท่านฝ่าฝืนหรือบังคับให้ท่านทำ ท่านสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือมายังสำนักงานแรงงานหรือศูนย์ให้คำปรึกษาแรงงานต่างชาติ สำหรับนายจ้าง ถ้าฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ และปรับเป็นเงินระหว่าง 3 หมื่น ถึง 1 แสน 5 หมื่นดอลลาร์ไต้หวัน ในกรณีที่ท่านทำงานในตำแหน่งผู้อนุบาลคนป่วย แม่บ้าน ถ้านายจ้างมีการย้ายที่อยู่ ท่านสามารถย้ายตามไปได้ แต่ว่านายจ้างต้องแจ้งเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่กับทางสถานีตำรวจไว้เป็นหลักฐาน

    3. การฝ่าฝืนกฎหมาย

    แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไต้หวัน ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของการว่าจ้างงาน ผู้ที่ฝ่าฝืนนอกจากจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตการว่าจ้างแล้ว ยังเสียค่าปรับและถูกส่งกลับประเทศอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต หรือออกไปรับจ้างทำงานให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่นายจ้างของตน จะต้องเสียค่าปรับ 3 หมื่น ถึง 1 แสน 5 หมื่นดอลลาร์ไต้หวันและถูกส่งกลับประเทศ หรือผู้ทำงานบ้านที่มีพฤติกรรมลักขโมย ก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและถูกส่งกลับประเทศ ซึ่งถ้าท่านถูกส่งกลับประเทศแล้ว จะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในไต้หวันได้อีก ในกรณีที่ท่านมีปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ท่านสามารถปรึกษากับสำนักงานแรงงานไทยในเขตที่ท่านทำงานอยู่ ในกรณีที่ท่านหลบหนีนายจ้าง ทางการไต้หวันจะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และท่านสามารถติดต่อศูนย์ต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและจัดหาทนายได้